พ่อแม่ควรทำอย่างไร เมื่อลูกพูดไม่ชัด

การพูดไม่ชัดมีผลเสียต่อลูกในหลาย ๆ ด้านด้วยกัน ในลูกก่อนวัยเรียน ลูกจะไม่สามารถพูดคุยกับพ่อแม่หรือเพื่อน ๆ ให้เข้าใจสิ่งที่ตัวเองต้องการสื่อสารออกมา เมื่อถูกถามย้ำให้พูดใหม่บ่อย ๆ ลูกจะหงุดหงิด เงียบ หรือไม่ยอมพูดซ้ำ บางคนถูกเพื่อนล้อจนอายไม่อยากพูด เก็บตัวโดดเดี่ยว ออกห่างเพื่อน ทำให้ขาดโอกาสในการพูดคุย และขาดทักษะทางสังคมยิ่งขึ้น  เมื่อถึงในวัยเรียนลูกที่ยังพูดไม่ชัด นอกจากการอ่านออกเสียงไม่ชัดแล้ว ลูกยังจะมีปัญหาเรื่องการสะกดคำผิดตามการออกเสียงที่ผิดของตน ซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยากขึ้น

สาเหตุของการพูดไม่ชัดในเด็กที่มีพัฒนาการปกติมาจากปัญหาใหญ่ ๆสองด้าน

  1. ปัญหาของโครงสร้างทางร่างกายผิดปกติ เช่น หูหนวก หูอักเสบเรื้อรัง ทำให้การได้ยินผิดปกติ มีโครงสร้างของช่องปากผิดปกติ เช่น เพดานโหว่ ปากแหว่ง สิ้นไก่สั้น และปัญหาทางสมองในกลุ่มเอแพรกเซีย   ซึ่งพ่อแม่จะต้องพาไปพบแพทย์เฉพาะทางนั้น ๆ เพื่อส่งต่อแก้ไขการพูดของลูกต่อไป
  2. การพูดไม่ชัดที่ไม่มีโครงสร้างผิดปกติ ปัญหาอาจจะเกิดจากความบกพร่องของการทำงานของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการพูดทั้ง ๆ ที่มีโครงสร้างปกติ หรือปัญหาอาจจะเกิดขึ้นจากการเลี้ยงดู ซึ่งโดยธรรมชาติของการพัฒนาการทางการพูดทั่วไป  เด็กจะต้องมีการได้ยินปกติ และอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีการพูดคุยกัน เมื่อรับฟังสิ่งที่พ่อแม่พูดคุยด้วยแล้ว จึงเลียนแบบเสียงพูดของพ่อแม่ ก่อนเริ่มพูดกับพ่อแม่ด้วยคำสั้น ๆ จนสามารถพูดเป็นประโยคง่าย ๆ ได้ ขณะที่ลูกพูดคุยกับพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่เข้าใจสิ่งที่ลูกพูดคุยด้วยทั้งที่พูดไม่ชัด หรือ ถ้าพ่อแม่เอ็นดูการพูดไม่ชัดของลูก พ่อแม่ที่ไม่ได้ทักท้วงแก้ไขการพูดของลูกแต่เริ่มแรก ทำให้ลูกเคยชินกับการพูดไม่ชัดไปเรื่อย ๆ จนพูดไม่ชัดเป็นนิสัยไประยะหนึ่ง ก็จะเป็นเด็กพูดไม่ชัดในที่สุด นอกจากนี้ยังมีเด็กกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถออกเสียงตามพ่อแม่ได้ถูกต้องตามปกติ เนื่องจากขาดการเรียนรู้และเข้าใจการพัฒนาระบบเสียงในภาษาของพ่อแม่ 

เด็กในกลุ่มที่สองนี้พ่อแม่สามารถจะประเมินการพูดไม่ชัดของลูกอย่างคร่าว ๆ ได้ด้วยตนเอง โดยคำนึงถึงอายุของลูกเป็นสำคัญ  เพราะเสียงในภาษามีความยากง่ายต่างกัน เด็กที่เริ่มพูดจะพูดเสียงในภาษาที่ง่าย ๆ ได้ก่อนเสียงที่ยากกว่า (เช่นในภาษาไทย เสียง ส เสือ ร เรือ หรือเสียงควบกล้ำทั้งหมด ถือว่าเป็นเสียงยาก อาจจะต้องขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากนักแก้ไขการพูดไม่ชัด)

พ่อแม่อาจจะเริ่มจากการประเมินการทำงานของปาก ดูการอ้าปาก ปิดปาก การออกเสียงสระและพยัญชนะต่าง ๆ ในภาษา ตามตารางสระและพยัญชนะ ซึ่งหาซื้อได้ทั่ว ๆ ไป ตามร้านขายหนังสือ  การประเมินนี้จะทำให้พ่อแม่เข้าใจได้ง่าย ๆ ว่าลูกพูดเสียงใดไม่ชัด

การสอน ถ้าลูกพูดไม่ชัดหลายเสียง ให้ใช้วิธีง่าย ๆ โดยการกระตุ้นให้ลูกออกเสียงตามเป็นเสียงเดี่ยว หรือเป็นคำง่าย ๆ ที่มีเพียงพยัญชนะและสระตัวใดตัวหนึ่งก่อน เสียงใดที่เด็กออกเสียงตามได้ดี จะเป็นเสียงที่พ่อแม่นำมาสอนก่อน ขณะที่สอนควรนั่งหันหน้าเข้าหาลูก ให้เด็กสามารถมองเห็นหน้าพ่อแม่ขณะออกเสียงตาม

เมื่อลูกพูดไม่ชัด พ่อแม่ไม่ควรปล่อยทิ้งปัญหาไว้นานจนเป็นนิสัย การรักษาแต่แรกเริ่มจะใช้เวลาไม่นาน พ่อแม่ควรตระหนักว่า การแก้ไขการพูดไม่ชัดของลูก เป็นการให้ลูกเรียนรู้วิธีการพูดใหม่ให้ถูกต้อง ลูกจะต้องเป็นผู้เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง การเรียนรู้นี้ต้องใช้เวลา และลูกต้องมีความพร้อมที่จะเรียนรู้และให้ความร่วมมือกับการสอนของพ่อแม่ จึงจะเห็นผลสัมฤทธิ์ ดังนั้นพ่อแม่มิใช่เพียงเรียนรู้วิธีแก้ไขว่าทำอย่างไรจึงสอนเด็กได้ พ่อแม่ต้องเข้าใจวิธีการสอนและการจัดการพฤติกรรมในขณะที่สอนลูกด้วย

เครดิต อ.ปรียา หล่อวัฒนะพงษา