ภาวะซึมเศร้าในเด็กและวัยรุ่น

เราคงได้ยินข่าวการทำร้ายตัวเอง ฆ่าตัวตายของคนในสังคม บางครั้งก็เป็นเด็กๆ และวัยรุ่น พบว่าสาเหตุใหญ่อันหนึ่งที่ทำให้เกิดการฆ่าตัวตายคือการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ดังนั้นหมอคิดว่าถ้าพ่อแม่เข้าใจสัญญาณเตือนที่บอกว่าลูกๆ ของเราอาจจะมีภาวะซึมเศร้าอยู่และเด็กๆ ได้รับการบำบัดรักษา ตรงนั้นก็อาจจะช่วยให้เรื่องเศร้าแบบนี้เกิดน้อยลง

เมื่อเราพูดถึงคนที่ซึมเศร้า เราอาจจะคิดถึงคนที่ร้องไห้หน้าตาไม่มีความสุข แต่บางครั้งเมื่อเด็กและวัยรุ่นป่วยเป็นซึมเศร้า อาการของพวกเขาไม่ได้ตรงไปตรงมาแบบนั้น เด็กและวัยรุ่นประมาณหนึ่งในสิบคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรจะต้องเข้าใจอาการและสัญญาณต่างๆของโรคนี้ในเด็กและวัยรุ่น

หมอจึงขอเล่าให้ฟังง่ายๆ ดังนี้ค่ะ

  1. หงุดหงิดมากขึ้น โกรธง่าย เด็กๆอาจไม่ได้แสดงออกว่าเศร้า แต่เป็นอารมณ์แปรปรวนกว่าปกติในเรื่องเล็กๆ 
  2. เบื่อหน่าย เซ็ง จนไม่อยากทำอะไรที่เคยชอบทำ 
  3. แยกตัวหรือมีปัญหาสัมพันธภาพกับคนรอบข้าง
  4. มีพฤติกรรม เช่น การใช้ยาเสพติด ติดโซเชียลมีเดียมากขึ้น เพราะใช้พฤติกรรมเหล่านั้นในการช่วยให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น
  5. มีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง เช่น กรีดแขน กรีดข้อมือ 
  6. มีอาการทางกายที่ไม่ทราบสาเหตุ เช่น ปวดหัว ปวดท้อง และไม่ค่อยดีขึ้นแม้ว่าจะไปหาหมอรักษาอาการทางกายแล้ว
  7. อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ขาดสมาธิ เหม่อลอย
  8. การเรียนตกลง บางคนไม่อยากไปโรงเรียน

แต่ไม่ได้หมายความว่าหากมีอาการดังกล่าวเด็กและวัยรุ่นจะต้องเป็นโรคซึมเศร้าเสมอไป การจะทราบแน่นอนจำเป็นต้องพาเด็กไปรับการตรวจประเมินจากจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

อย่างไรก็ตาม ภูมิคุ้มกันสำคัญที่ทำให้เด็กและวัยรุ่นผ่านช่วงเวลาแย่ๆ เรื่องราวเครียดๆไปได้ คือ สัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว การที่เด็กมีความใกล้ชิด สนิทไว้วางใจพ่อแม่ มีอะไรคุยกับผู้ใหญ่ใกล้ชิดได้ มีที่พึ่งพิงทางใจที่จะค่อยรับฟังเวลาที่เขามีปัญหา คนที่เขารู้ว่าจะเข้าใจเขา 

ซึ่งตรงนี้หมออยากจะเน้นในผู้ใหญ่ทุกคนที่ได้อ่านบทความว่าขอให้มีเวลาคุณภาพกับเด็กๆให้เพียงพอตั้งแต่ที่เขายังเล็ก มีการเอาใจใส่ให้ความรักกับเด็ก การพูดคุยถึงสิ่งที่เกิดในแต่ละวัน การสื่อสารเชิงบวกที่ให้กำลังใจ หากเด็กทำผิดก็ไม่ใช้อารมณ์รุนแรง ให้โอกาส ทำให้เด็กมีความภาคภูมิใจ มองเห็นคุณค่าในตัวเอง และมีความเข้มแข็งทางใจ

ตรงนั้นมีความสำคัญ และจะเป็นวัคซีนใจในการเติบโตต่อไปในวันข้างหน้าของเขา

เครดิต พญ.เบญจพร ตันตสูติ